ประวัติสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือไทย

Release Date : 25-05-2017 00:00:00
ประวัติสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือไทย

 

ประวัติความเป็นมา

        ประเทศไทยและอินเดียได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๔๙๐ โดยขั้นต้นได้แลกเปลี่ยนผู้แทนในระดับอัครราชทูต มีสถานอัครราชทูตตั้งอยู่ ณ เมืองหลวงของประเทศทั้งสอง และต่อมาในวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๔๙๔ จึงได้ตกลงยกสถานะสถานอัครราชทูตของแต่ละฝ่ายขึ้นเป็นสถานเอกอัครราชทูต มีผู้แทนระดับเอกอัครราชทูต

         สถานอัครราชทูต/สถานเอกอัครราชทูตของไทย เดิมเช่าอาคารของเอกชนเป็นที่ทำการอยู่ ณ เลขที่ ๑๕ ถนน ออรังเชป กรุงนิวเดลี โดยเสียค่าเช่าเดือนละ ๘๕๑ รูปี ๑๑ แอนนา ต่อมารัฐบาลอินเดียได้นำที่ดินว่างเปล่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่รกร้าง แห้งแล้ง เป็นหินทราบ มาจัดสรรให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ เช่า เพื่อก่อสร้างที่ทำการ สถานเอกอัครราชทูต โดยทางการอินเดียอำนวยความสะดวกด้านสาธารณูปโภคให้

         หลวงวิจิตรวาทการ เอกอัครราชทูตในสมัยนั้น ได้ดำเนินการขออนุมัติรัฐบาลเช่าที่จัดสรรจากรัฐบาลอินเดีย จำนวน ๔ เอเคอร์ หรือเท่ากับ ๑๐ ไร่ เพื่อก่อสร้างสถานเอกอัครราชทูต ณ เลขที่ 56 – N, Nyaya Marg, Chanakyapuri กรุงนิวเดลี

         ต่อมาในปี ๒๔๙๖ สมัยหลวงภัทรวาที เป็นเอกอัครราชทูต รัฐบาลอนุมัติให้เช่าที่ดังกล่าวได้ หลวงภัทรวาทีเป็นผู้รับมอบที่ดิน เมื่อวันที่ ๑๙ มิ.ย.๒๔๙๖ และลงนามในสัญญาเช่าถาวร ในนามของรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐอินเดีย เมื่อวันที่ ๒๒ พ.ย.๒๔๙๗ และเป็นที่ตั้งของ สน.ผชท.ทร.ไทย/นิวเดลี จนถึงทุกวันนี้

         เมื่อได้รับมอบที่ดินแล้ว สน.ผชท.ทร. กับ สน.ผชท.ทอ. ได้เริ่มก่อสร้างอาคารก่อนรวม ๒ หลัง ในราคาหลังละ ๑๗๐,๐๐๐ รูปี ลักษณะอาคารเป็นอาคาร ค.ส.ล. ๒ ชั้นดาดฟ้าเปิด โดยในเดือน พ.ค.๒๔๙๗ กระทรวงการคลังได้อนุมัติเงินจำนวน ๔๐,๐๐๐ รูปี เป็นค่าก่อสร้างกำแพงล้อมบริเวณที่ดิน

         วันที่ ๒๘ ม.ค.๒๔๙๘ สมัยพระมหิทธานุกร เป็นเอกอัครราชทูต กระทรวงการคลังได้อนุมัติเงิน จำนวน ๘๑๑,๗๗๑ รูปี ๑๒ แอนนา ๑๑ ไพ (๒,๑๓๔,๖๐๐.๒๔ บาท) เพื่อเป็นค่าก่อสร้างที่ทำการ สอท. จำนวน ๕ หลัง ประกอบด้วย ทำเนียบเอกอัครราชทูต บ้านพักเอกอัครราชทูต บ้านพักที่ปรึกษา เอกอัครราชทูต ที่พักคนใช้ และโรงรถ รวมทั้งระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ โดยมีนาย Karl Malte Von Heinz สัญชาติเยอรมัน เป็นสถาปนิก โดยการก่อสร้างสถานเอกอัครราชทูตแล้วเสร็จช่วงกลางปี พ.ศ.๒๕๐๑ สมัย นายบุณย์  เจริญชัย เป็นเอกอัครราชทูต